สไตล์และปรัชญาการทำทีม ของ อาร์แซน แวงแกร์

แวงแกร์ได้ชื่อว่าเป็นโค้ชที่ใช้เวลาไปกับการสร้างทีมที่สามารถผสมผสานระหว่างการไล่ล่าแชมป์กับความต้องการที่จะสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ชมด้วยเกมรุกเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว[9] เดอะไทมส์ได้กล่าวไว้ว่าในฤดูกาล 2003-04 ที่เขาประสบความสำเร็จนั้น แวงแกร์สร้างความสำเร็จมาจากการเน้นเกมรุกที่เร้าใจ[10] สไตล์การเล่นของลูกทีมเขานั้นมักจะถูกมองว่าแตกต่างไปจากทีมคู่แข่ง[11] แต่ในทางตรงข้าม ก็มักโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดสัญชาตญาณความเป็นนักฆ่า[12] แม้ว่าแวงแกร์จะนิยมใช้แผนการเล่นแบบ 4-4-2 แต่ต่อมา นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เขาก็เริ่มใช้แผนการเล่นแบบ 4-5-1 มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยทิ้งกองหน้าไว้คนเดียวและเน้นในแดนกลางสนามมากกว่า[13] ซึ่งจะเห็นบ่อยในยามที่ต้องเล่นในสนามที่กว้างขึ้นอย่างเอมิเรตส์สเตเดียม[14] หรือในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกที่สำคัญ ๆ[15]

อาร์แซน แวงแกร์ มีชื่อเสียงอย่างมากในการปั้นเด็กที่มีพรสวรรค์ที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักให้สามารถแจ้งเกิดในวงการฟุตบอลได้อย่างยิ่งใหญ่ เมื่อคราวที่คุมทีมอยู่โมนาโกนั้น เขาซื้อตัว จอร์จ เวียห์ (George Weah) ชาวไลบีเรียมาจากทีมตอแนร์ยาอูนเด (Tonnerre Yaoundé) ในประเทศแคเมอรูน เข้ามาร่วมทีม ต่อมานักเตะรายนี้ก็ได้ครองตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของฟีฟ่าเมื่อมาอยู่กับเอซีมิลานอีกด้วย และเมื่อคราวที่คุมทีมอาร์เซนอล แวงแกร์ก็ได้นำนักเตะดาวรุ่งเข้ามามากมาย ซึ่งในขณะที่เขาเซ็นสัญญากับนักเตะเหล่านี้ แทบจะไม่มีใครได้ยินชื่อของพวกเขามาก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็น ปาทริค วิเอร่า, เซสก์ ฟาเบรกัส, โรบิน ฟัน แปร์ซี และโกโล ตูเร เขาได้ปั้นนักเตะเหล่านี้ขึ้นมา ช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเติบโตขึ้นเป็นนักเตะระดับโลกได้ในที่สุด สถิติที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ กองหลังของอาร์เซนอลชุดหนึ่งเคยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการทำสถิติไม่เสียประตูในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกติดต่อกันถึง 10 นัดในฤดูกาล 2005-06 จนสามารถเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปพบกับบาร์เซโลนาได้ ทั้ง ๆ ที่กองหลังชุดนี้มีค่าตัวรวมกันไม่ถึง 5 ล้านปอนด์ด้วยซ้ำไป

แม้ว่าแวงแกร์จะใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลไปในการเซ็นสัญญานักเตะเข้ามาร่วมทีมอาร์เซนอล แต่สถิติการใช้จ่ายเงินของเขานั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทีมชั้นนำของพรีเมียร์ชิพทีมอื่น ๆ เช่น ในปี ค.ศ. 2007 นั้น เขาเป็นผู้จัดการทีมพรีเมียร์ลีกคนเดียวที่สามารถทำกำไรได้จากการซื้อขายนักเตะ[16] และปีเตอร์ ฮิลล์-วูด ประธานสโมสรของอาร์เซนอลก็เคยกล่าวว่า "โดยปกติแล้ว ตั้งแต่อาร์แซนมาอยู่กับเรา เขาจะใช้เงินเพียงปีละ 4-5 ล้านปอนด์เท่านั้นเอง"[17] และมีอีกหนึ่งตัวอย่างที่บ่งบอกถึงความสามารถในการหานักเตะของเขาที่ดีก็คือ การนำนีกอลา อาแนลกาเข้ามาร่วมทีมจากปารีแซ็ง-แฌร์แม็งด้วยค่าตัวเพียง 500,000 ปอนด์เท่านั้น แต่ในอีก 2 ปีต่อมาสามารถขายให้กับเรอัลมาดริดได้ถึง 22.3 ล้านปอนด์ เงินก้อนนี้จึงสามารถนำไปซื้อนักเตะคนใหม่ 3 คนเข้ามาเสริมทีมได้ ซึ่งก็ได้แก่ ตีแยรี อ็องรี, โรแบร์ ปิแรส และ ซีลแวง วีลตอร์ ซึ่งเป็นสามนักเตะที่อยู่ในชุดที่คว้าดับเบิลแชมป์ในฤดูกาล 2001-02 และแชมป์ลีกในฤดูกาล 2003-04

นอกจากเรื่องการปั้นนักเตะโนเนมให้เป็นนักเตะระดับโลกแล้ว แวงแกร์ยังมีความสามารถในการช่วยให้นักเตะที่มากประสบการณ์แต่กำลังอยู่ในช่วงขาลงสามารถกลับมายิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอลได้อีกครั้งหนึ่งที่อาร์เซนอล ไม่ว่าจะเป็น เดนนิส เบิร์กแคมป์ นักเตะที่เซ็นสัญญามาเล่นในลอนดอนเหนือก่อนหน้าที่แวงแกร์จะเข้ามาคุม 1 ปีก็สามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตได้เมื่อแวงแกร์เข้ามาบริหารทีม นอกจากนั้น แวงแกร์ก็ยังเคยนำอดีตเด็กปั้นของเขาที่โมนาโกอย่างตีแยรี อ็องรีมาโลดแล่นในวงการฟุตบอลที่อาร์เซนอลจนสามารถเป็นนักเตะระดับโลกได้ในที่สุด โดยสร้างสถิติดาวซัลโวสูงสุดของสโมสรและยังเคยเป็นกัปตันทีมของอาร์เซนอลอีกด้วย

นอกจากนั้น แวงแกร์ยังเป็นคนที่เข้ามาปฏิวัติเรื่องการฝึกซ้อมและเรื่องการควบคุมอาหารของทีมอีกด้วย เขาสั่งห้ามนักเตะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามซ้อมรวมไปถึงห้ามรับประทานอาหารขยะที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย แวงแกร์เคยสั่งพักอดีตกัปตันทีมโทนี แอดัมส์ หลังจากพบว่าเขาเป็นโรคติดแอลกอฮอล์ในปี ค.ศ. 1996 การสนับสนุนจากแวงแกร์เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แอดัมส์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ สามารถคืนฟอร์มเก่งได้และได้เล่นฟุตบอลต่ออีกหลายปี การฝึกซ้อมของแวงแกร์และการควบคุมอาหารนั้นอาจจะช่วยยืดเวลาการค้าแข้งของสมาชิกคนอื่น ๆ ของแบ็กโฟร์ กองหลังอันแข็งแกร่งของอาร์เซนอลได้อีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็นไนเจล วินเทอร์เบิร์น, ลี ดิกสัน และ มาร์ติน คีโอน (ตอนแรกแวงแกร์วางแผนว่าจะหาคนมาแทนที่พวกเขา แต่ในตอนหลังเขาก็รู้ดีว่าเขาไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเลย) รวมทั้งในฤดูกาล 2014-15 แวงแกร์ออกกฎห้ามเด็ดขาดที่จะให้นักฟุตบอลทุกคนสูบบุหรี่ หากใครฝ่าฝืนจะถูกไล่ลงไปซ้อมกับทีมระดับเยาวชนตลอดทั้งฤดูกาล หลังจากที่พบวอยแชค ชแชนสนือ ผู้รักษาประตู แอบสูบบุหรี่ระหว่างพักครึ่งในเกมที่ทีมแพ้เซาแทมป์ตัน 0-2 ในต้นปี ค.ศ. 2015 แวงแกร์ได้สั่งปรับเงินชแชนสนือเป็นจำนวน 20,000 ปอนด์[18]

แวงแกร์ยังมีส่วนในการออกแบบสนามเอมิเรตส์สเตเดียมของอาร์เซนอลอีกด้วย สนามแห่งนี้เปิดใช้ในปี ค.ศ. 2006 ทำให้สนามซ้อมของอาร์เซนอลย้ายมาอยู่ที่ลอนดอน โคลนีย์ในที่สุด

ใกล้เคียง

อาร์แซน แวงแกร์ อาร์แซน ลูแปง อาร์แซน ลูแปงที่ 3 อาร์เซน ซาฮาเรียน อาร์แอนด์บีร่วมสมัย อาร์เซนิกไตรออกไซด์ อาร์เซนอลสเตเดียม อาร์แมนโด เอสตราดา อาร์เซนอล อาร์แมน ซาร์กซียัน

แหล่งที่มา

WikiPedia: อาร์แซน แวงแกร์ http://www.arsenal.com/article.asp?thisNav=&articl... http://www.arsenal.com/article.asp?thisNav=News&ar... http://www.arsenal.com/article.asp?thisNav=news&ar... http://www.arsenal.com/staffarticle.asp?article=35... http://www.arsenalamerica.com/2006/10/06/evolution... http://www.channel4.com/news/articles/sports/wenge... http://au.eurosport.com/football/arsene-wenger_prs... http://www.football365.com/news/story_131481.shtml http://www.goal.com/th/news/4282/%E0%B8%9F%E0%B8%B... http://football.kapook.com/news_inside.php?id=1017...